รู้จักธงสัญลักษณ์ "PRIDE MONTH" ของชาว LGBTQIAN+ ทำไมต้องเป็นสีรุ้ง

ในเดือนมิถุนายนนี้ หลายคนคงเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งการเปลี่ยนโลโก้องค์กร การตกแต่งสถานที่ หรือการประดับดาอาคารต่างๆ ด้วยธงสีรุ้งเต็มไปหมด

แต่ทำไมถึงต้องเป็นสีรุ้งนั้น วันนี้ พีพีทีวี นิวมีเดีย ได้รวบรวมคำตอบมาฝากกัน!

มิถุนายนเดือนของ "Pride Month" 

เดือนมิถุนายน ถือเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลายของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก ที่จะออกมาเดินขบวนพาเหรด สวมชุดสีรุ้ง หรือประดับประดาตกแต่งอาคารบ้านเรือนด้วยธงหลากสี

"Pride Month" คืออะไร ทำไมตรงกับเดือนมิถุนายนและสำคัญกับ "LGBTQIAN+"

ทำความรู้จักความหมาย "LGBTQIAN+" ต้อนรับ Pride Month

เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศมาจนถึงปัจจุบัน

"ธงไพรด์" สัญลักษณ์ของ LGBTQIAN+

ส่วนทำไมถึงต้องมีการออกมาเดินขบวนพาเพรด สวมชุด หรือถือธงสีรุ้งกันนั้น

มีจุดเริ่มต้นมาจากการคิดค้นขึ้นของ "กิลเบิร์ต เบเกอร์" ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากธงชาติของสหรัฐอเมริกาในวาระฉลองครบรอบ 200 ปี  ในปี 1976

เขามองว่า "สีรุ้ง" เป็นการรวมตัวกันของหลายสีมาเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างสีสัน เหมือนกับความหลากหลายทางเพศ เป็นที่มาว่าสีรุ้งจึงเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่า "LGBTQIAN+" นั่นเอง

เปิดความหมายแต่ละสีบนธงไพร์ด

แรกเริ่มธงนี้มีดด้วยกันทั้งหมด 8 สี ได้แก่

  • สีแดง หมายถึง ชีวิต
  • สีส้ม หมายถึง การเยียวยา
  • สีเหลือง หมายถึง แสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
  • สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติ
  • สีน้ำเงินม่วง หมายถึง ความสามัคคี
  • สีม่วง หมายถึง จิตวิญญาณอันแน่วแน่
  • สีชมพู (Hotpink) หมายถึง เรื่องเพศ
  • สีฟ้า (Turquoise) หมายถึง เวทมนต์

แต่ภายหลังได้ลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยสีที่ถูกถอดออกคือ สีชมพู (Hot pink) และ สีฟ้า (Turquoise) เนื่องจากเป็นสีที่มีความพิเศษ ทำให้ยากต่อการผลิต แต่ถึงแม้ว่าจะถูกลดทอนสีลง แต่ความหมายของสีต่างๆ ยังคงเป็นเช่นเคย

"ธงไพรด์" ไม่ได้มีแค่สีรุ้ง

อัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่มีความหลากหลายซับซ้อน และยังมีชุมชนเล็กๆ อีกมากมายที่ยังไม่มีจุดยืนในสังคมมากนัก ทำให้ธงไพรด์ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบมาโดยตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เราจึงไม่ได้เห็นธงไพรด์มีแค่สีรุ้งเท่านั้น โดยธงไพรด์หลากสีที่นอกเหนือจากธงของ “กิลเบิร์ต เบเกอร์” ที่เป็นที่นิยมกัน มีดังนี้

  • Philadelphia Pride Flag

ธงที่เพิ่มสีดำ และน้ำตาลเข้าไปในปี 2017 เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นชาวผิวสี เพื่อสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากมากกว่าธรรมดา

Philadelphia Pride Flag

  • Progress Pride Flag

ธงที่พัฒนามาจาก Philadelphia Pride Flag คิดค้นขึ้นโดย “แดเนียล ควาซาร์” ในปี 2018 โดยสีของธงยังคงมีสีดำและน้ำตาลอยู่ แต่เพิ่มสีชมพูและสีฟ้าเข้าไป เพื่อสะท้อนถึงทรานส์เจนเดอร์หรือคนข้ามเพศเข้าไปด้วย

Progress Pride Flag

  • Intersex-Inclusive Progress Pride Flag

Intersex เป็นคำจำกัดความที่ให้ความหมายครอบคลุมถึงบุคคลที่มีร่างกายหรืออวัยวะเพศที่ไม่ตรงตามการแบ่งเพศหญิงหรือชาย

สำหรับธงนี้ คิดค้นขึ้นโดย “วาเลนติโน่ เวคคิเอตติ” คอลัมนิสต์จาก Intersex Equality Rights องค์กรการกุศลที่สนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมของอินเตอร์เซ็กส์ ประจำสหราชอาณาจักร

โดยเขาเลือกใส่สีทองหรือสีเหลือเข้าไป เพราะเป็นสีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของ “มานี่ มิตเชลล์” ชาวอินเตอร์เซ็กส์ คนหนึ่งที่ต้องการจะให้คำว่า “Hermaphrodite” ซึ่งเป็นคำที่เคยถูกใช้ในการดูถูก ให้กลับกลายมาเป็นคำปกติ

ขณะที่ใช้สัญลักษณ์วงกลมสีม่วงวางไว้ตรงกลางธง ซึ่งวงกลมหมายถึงการไม่ได้บกพร่อง มีความสมบูรณ์ดี และชาวอินเตอร์เซ็กส์มีสิทธิที่จะตัดสินใจอะไรก็ได้ในร่างกายของพวกเขา

Intersex-Inclusive Progress Pride Flag

  • Queer Pride Flag

ธงที่สร้างขึ้นในปี 2015 ที่แสดงถึงทุกแง่มุมของเพศทางเลือก โดยมีสีชมพูและสีน้ำเงินแสดงถึงความดึงดูดระหว่างเพศเดียวกัน ในขณะที่แถบสีส้มและสีเขียว หมายถึงกลุ่มนอนไบนารีและบุคคลไม่ระบุเพศ ส่วนแถบสีดำและขาว เป็นสัญลักษณ์ของคนไร้เพศ อะโรมาติก และกลุ่มคนรักร่วมเพศ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธงไพรด์ ยังมีธงหลากสีอีกมากมายที่เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศให้เราได้เข้าไปลองเข้าไปศึกษากัน แต่สิ่งสำคัญคือสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพโดยปราศจากการแบ่งแยก ไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่นที่แตกต่างกันก็ตาม

Queer Pride Flag

ขอบคุณข้อมูลจาก : เว็บไซต์ HRC และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล

"บางกอกไพรด์ 2023" ชวนชมขบวนแห่สีรุ้ง ถ่ายรูปกับ "6 ทูตนฤมิต"

รวมที่เที่ยวงาน "Pride Month" เช็กจุดถ่ายรูป-เดินไพรด์พาเหรด

2023-06-02T11:18:51Z dg43tfdfdgfd